การรักษาอาการนอนกรน
การนอนกรน snoring) คือเสียงที่เกิดจากการสั่นหรือสะบัดมากกว่าปกติของลิ้นไก่และเพดานอ่อนขณะ นอนหลับ คนที่นอนกรนมักจะไม่ค่อยทราบว่าตัวเองมีอาการนอนกรนและก็ไม่มีสัญญาณอะไรที่ จะบอกได้ขณะที่ตื่นอยู่ว่าเป็นคนนอนกรนหรือไม่ ในเวลาที่เราหลับสนิทนั้นเนื้อเยื่อต่างๆ ในช่องปากโดยเฉพาะอย่างยิ่งลิ้นไก่และเพดานปากจะหย่อนลงจากภาวะผ่อนคลาย จนย้อยลงมาอุดกั้นทางเดินหายใจบริเวณลำคอ ทำให้ลมหายใจไม่สามารถไหลผ่านลงสู่หลอดลมและปอดได้โดยสะดวก กระแสลมที่ถูกปิดกั้นจะเกิดเป็นลมหมุนในลำคอไปกระทบลิ้นไก่และเพดานอ่อนจน เกิดการสั่นมากกว่าปกติ ผลก็คือมีเสียงกรนตามมา ยิ่งการปิดกั้นทำให้ทางเดินหายใจแคบลงมากเพียงใดเสียงกรนก็จะดังมากขึ้นเท่า นั้น หากการปิดกั้นนี้มากจนกระทั่งอุดตันทางเดินหายใจจนหมด จะทำให้อากาศไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ เราเรียกว่าเกิดภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea)
เพศชาย ประมาณร้อยละ 85 ของผู้ป่วยเป็นเพศ ชาย ทั้งจากการศึกษาทางระบาดวิทยาและ การศึกษาผู้ป่วยเฉพาะกลุ่ม พบว่าเพศชายมี โอกาสเป็นมากกว่าเพศหญิง ด้วยอัตราส่วน 7:1 แต่เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนพบว่าเพศหญิงมีโอกาสเป็นมากขึ้น อาจเป็นไปได้ว่าฮอร์โมนเพศจะมีผลต่อโรคนี้ได้ เชื่อว่าอิทธิพลของฮอร์โมนส่งผลที่โครงสร้างบริเวณศีรษะและลำคอของเพศชาย เนื้อเยื่อบริเวณคอหนาขึ้นทำให้มีช่องคอแคบกว่าผู้หญิง ฮอร์โมนของเพศหญิงมีส่วนทำให้กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ขยายช่องทางเดินหายใจ มีความตึงตัวที่ดี
สาเหตุของการนอนกรน
- อายุ เมื่อ อายุมากขึ้น เนื้อเยื่อต่างๆ จะขาดความตึงตัว ลิ้นไก่ยาวและเพดานอ่อนห้อยต่ำลง กล้ามเนื้อต่างๆ หย่อนยาน รวมทั้งกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ขยายช่องทางเดินหายใจบริเวณลำคอ ทำให้ลิ้นไก่และลิ้น ตกไปบังทางเดินหายใจได้ง่าย
- เพศ ประมาณร้อยละ 85 ของผู้ป่วยเป็นเพศชาย ?ทั้งจากการศึกษาทางระบาดวิทยาและการศึกษาผู้ป่วยเฉพาะกลุ่ม พบว่าเพศชายมีโอกาสเป็นมากกว่าเพศหญิง ด้วยอัตราส่วน 7:1 แต่เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนพบว่าเพศหญิงมีโอกาสเป็นมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าฮอร์โมนเพศจะมีผลต่อการกรนนี้ โดยเชื่อว่าอิทธิพลของฮอร์โมนส่งผลที่โครงสร้างบริเวณศีรษะและลำคอของเพศชาย เนื้อเยื่อบริเวณคอหนาขึ้นทำให้มีช่องคอแคบกว่าผู้หญิง ฮอร์โมนของเพศหญิงมีส่วนทำให้กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ขยายช่องทางเดินหายใจ มีความตึงตัวที่ดี
- โรคอ้วน พบว่าประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยที่มีภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ OSA (Obstructive Sleep Apnea) มี Body Mass Index (BMI) > 28 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือมีน้ำหนักมากกว่าร้อยละ 20 ของน้ำหนักมาตรฐาน เมื่อลดน้ำหนักได้ 5-10 กิโลกรัมจะทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นได้
- ดื่มสุราหรือการใช้ยาบางชนิดเช่นยากล่อมประสาทก่อนนอน จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมทั้งกล้ามเนื้อที่คอยพยุงช่องทางเดินหายใจให้เปิดหมดแรงไป เกิดภาวะทางเดินหายใจอุดตันได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้จะกดการทำงานของสมอง ทำให้สมองตื่นขึ้นมาเมื่อมีภาวะการขาดออกซิเจนได้ช้า ซึ่งอาจส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อหัวใจและสมองได้
- การสูบบุหรี่ ทำให้ประสิทธิภาพของระบบทางเดินหายใจแย่ลง ทำให้คอหอยอักเสบจากการระคายเคือง มีการหนาบวมของเนื้อเยื่อ ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง เกิดการอุดตันได้ง่าย และยังส่งผลเสียต่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ
- อาการคัดจมูกเรื้อรัง จมูกเป็นต้นทางของทางเดินหายใจ ถ้ามีภาวะใดก็ตามที่ทำให้แน่นจมูกเรื้อรัง เช่นมีผนังกั้นจมูกคด เยื่อบุจมูกอักเสบเรื้อรัง หรือเนื้องอกในจมูก ย่อมจะทำให้การหายใจลำบากขึ้น ทำให้ต้องหายใจทางปากและเกิดเสียงกรน
- กรรมพันธุ์ โดย เฉพาะอย่างยิ่งในรายที่ไม่อ้วน แต่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ บางคนอาจมีลิ้นไก่ยาวย้อยลงมาจากเพดานอ่อน บางคนอาจมีเพดานปากนิ่มและหนา หรือมีต่อมทอนซิลและอดีนอยด์ที่มีขนาดใหญ่จนทำให้ทางเดินหายใจแคบลง สิ่งเหล่านี้ล้วนอุดกั้นทางเดินของลมหายใจ และปัจจัยทางพันธุกรรมน่าจะเป็นสาเหตุหลักของผู้ป่วยกลุ่มนี้ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากกว่าคน ปกติ 1.5 เท่า
- ลักษณะโครงสร้างของกะโหลกศีรษะและกระดูกใบหน้าผิดปกติ เช่น คางเล็ก คางเลื่อนไปด้านหลัง ลักษณะคอยาว หน้าแบน ล้วนทำให้ทางเดินหายใจช่วงบนแคบลงเกิดการอุดตัน และทำให้เกิดการหยุดหายใจได้ โรคที่มีความผิดปกติบริเวณนี้ได้แก่ Downs syndrome, Prader Willi syndrome, Crouzons syndrome เป็นต้น
- โรคต่อมไร้ท่อต่างๆ ได้แก่ Hypothyroidism, Acromegaly พบว่าทำให้เกิดทางเดินหายใจอุดตันได้มากกว่าคนทั่วไป
การนอนกรนมี 2 ชนิด
1.ชนิดไม่อันตราย ไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ เพียงแต่ก่อความรำคาญให้คนใกล้ชิดเท่านั้น
2.ชนิดอันตราย นั่นคือ หยุดหายใจขณะหลับ อันเนื่องมาจากมีการอุดตันของทางเดินหายใจขณะหลับ ภาวะอุดตันทางเดินหายใจส่วนบน และระบบประสาทส่วนกลางผิดปกติ
การรักษามี 2 วิธี
คือ วิธีไม่ผ่าตัด และวิธีผ่าตัด ซึ่งท่านสามารถเลือกได้ เพราะการรักษาอาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แนะนำให้ใช้วิธีไม่ผ่าตัดก่อน ถ้าไม่ดีขึ้น,ไม่ชอบ หรือไม่สะดวก ท่านสามารถเลือกวิธีผ่าตัดได้
1 วิธีการรักษาโดยไม่ผ่าตัด
1.1 ลดน้ำหนัก ในรายที่ท่านมีน้ำหนักเกิน
1.2 ใช้CPAP นั้นย่อมาจาก Continuous Positive Airway Pressure เป็นการรักษาที่ได้ประสิทธิผลดีที่สุดวิธีหนึ่งในการรักษา ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea Syndrome, OSAS) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีอาการในระดับปานกลาง ถึง รุนแรง CPAP มีหลักการในการรักษาคือ การเป่าความดันลมผ่านทางจมูกหรือปาก ผ่านบริเวณลำคอ และโคนลิ้น ซึ่งเป็นส่วนทางเดินหายใจส่วนต้น เพื่อให้เปิดขยายตัวตลอดเวลาโดยไม่ให้มีการอุดกั้นขณะที่นอนหลับ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ใช้เครื่องสามารถหายใจรับอากาศอย่างพอเพียงและนอนหลับราบรื่นตลอดทั้งคืน โดยลมที่เป่าด้วยความดันนี้มักเป็นเพียงอากาศปกติ ไม่ใช่การให้ออกซิเจนตามโรงพยาบาล (ยกเว้นในบางรายที่จำเป็นมากเท่านั้น)
ในปัจจุบัน มีเครื่อง CPAP อยู่หลายแบบ ซึ่งแบ่งง่าย ๆ จะเป็น
1. เครื่องเป่าความดันลมแบบธรรมดา หรือ Manual CPAP
2. เครื่องเป่าความดันลม 2 ระดับ (Bilevel PAP หรือ BiPAP) และ
3. เครื่องเป่าความดันลมแบบปรับความดันอัตโนมัติ (Auto-adjusting PAP หรือ APAP)
ในกรณีทั่วไปการใช้เครื่องแบบธรรมดาก็อาจเพียงพอซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าแบบอื่น
ประโยชน์ หรือ ข้อดี ของการรักษาด้วย CPAP
การรักษาด้วยเครื่อง CPAP นั้นตามรายงานการวิจัยทั่วโลก จัดว่าเป็นการรักษาภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับระดับปานกลางหรือรุนแรง ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในแบบที่ไม่ต้องผ่าตัด ถ้าท่านได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและปรับความดันที่เหมาะสมกับท่านที่สุดโดยแพทย์เฉพาะทาง และท่านได้ใช้เครื่องตลอดทั้งคืน จะข้อดีมีทั้งในระยะสั้น คือ ท่านจะไม่มีอาการนอนกรนและจะนอนหลับได้ดีขึ้นพร้อมกับได้รับอากาศอย่างเต็มที่ ตื่นขึ้นมาจะสดชื่น ลดอาการอ่อนเพลีย หรือ ความง่วงนอนตอนกลางวันอย่างที่ท่านรู้สึกความแตกต่างได้ รวมถึงในระยะยาวจะลดความเสี่ยงจากโรคแทรกซ้อนหรืออาการอื่นๆที่เกิดจากภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับด้วย โดยหากท่านติดตามดูแลกับแพทย์อย่างใกล้ชิด จะมีความเสี่ยงในการรักษาน้อย
1.3 การใช้อุปกรร์หรือหมอนในการลดอาการนอนกรน คลิกที่นี่
2 วิธีผ่าตัดนั้น ได้แก่ การใช้คลื่นความถี่วิทยุ ซึ่งเป็นการนำเข็มพิเศษเข้าไปในเนื้อเยื่ออ่อน เช่น เพดานอ่อน ต่อมทอนซิล โคนลิ้น หรือเยื่อบุจมูก เพื่อส่งคลื่นความถี่สูงที่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนให้แก่เนื้อเยื่อรอบๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียสภาพและการตายของเนื้อเยื่อขึ้นภายใน 1-2 เดือน หลังจากนั้น จะเกิดเนื้อเยื่อพังผืด เกิดการหดและลดปริมาตรของเนื้อเยื่อ
วิธีนี้สามารถลดขนาดเนื้อเยื่อต่างๆ ที่อุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น เป็นผลให้อาการนอนกรนและ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับน้อยลง ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้น วิธีนี้ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อรอบๆ น้อย และยังทำให้อาการปวดหรือเจ็บแผลหลังผ่าตัดน้อยด้วย สามารถทำได้โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ผลของการลดขนาดของเนื้อเยื่อดังกล่าวจะเห็นชัดเจนใน 4-6 สัปดาห์ อาจทำซ้ำได้อีก ถ้าผลยังไม่เป็นที่น่าพอใจ วิธีนี้ง่ายในการทำ ผลข้างเคียงน้อยและได้ผลดี
อีกวิธีหนึ่งคือ การฝังพิลลาร์ (Pillar) เข้าไปในเพดานอ่อน โดยสอดแท่งเล็กๆ 3 แท่ง (ขนาดยาว 1.8 เซนติเมตร กว้าง 2 มิลลิเมตร) ซึ่งทำมาจากโพลิเอสเตอร์อันอ่อนนุ่ม ที่ใช้เป็นวัสดุทางการแพทย์ชนิดที่สามารถสอดใส่ในร่างกายมนุษย์ได้อย่างถาวร ฝังเข้าไปในเพดานอ่อนในปาก (ไม่สามารถมองเห็นจากภายนอก) ด้วยเครื่องมือช่วยการใส่ที่ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะ โดยไม่ได้ตัดหรือทำลายเนื้อเยื่อของเพดานอ่อน พิลลาร์จะช่วยลดการสั่นสะเทือน หรือการสะบัดตัวของเพดานอ่อน และพยุงไม่ให้เพดานอ่อนในปากปิดทางเดินหายใจได้โดยง่าย และเมื่อเวลาผ่านไป เนื้อเยื่อของเพดานอ่อน รอบๆ จะตอบสนองต่อแท่งพิลลาร์ โดยการเกิดพังผืด ช่วยเพิ่มความแข็งแรง สมบูรณ์ทางด้านโครงสร้างของเพดานอ่อนในปากมากขึ้น ทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น หายใจได้สะดวกขึ้น และอาการนอนกรนน้อยลง โดยไม่รบกวนการพูด การกลืน หรือการทำงานปกติของเพดานอ่อน มักนิยมใช้รักษาอาการนอนกรนและ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่เป็นไม่มาก ข้อดีของวิธีนี้คือ อาการปวดหรือเจ็บแผลหลังผ่าตัดน้อย การรักษาจะเสร็จสมบูรณ์ในครั้งเดียวและใช้เวลาไม่นานในการผ่าตัด สามารถทำได้โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล