Blog Section

ตอนที่166: ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

ตอนที่166: ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

ข้อมูลที่ผู้ป่วยควรทราบเกี่ยวการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

  1. การผ่าตัดใช้เวลาประมาณหนึ่งถึงสามชั่วโมง ขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของผู้ป่วยแต่ละคน
  2. ปกติผู้ป่วยจะถูกส่งตัวกลับไปยังห้องพัก หลังจากผ่าตัดเสร็จประมาณหนึ่งถึงสามชั่วโมง
  3. อาการปวดหลังผ่าตัดจะได้รับการบำบัดโดยวิธีต่างๆ เช่น การฉีดยาระงับปวดเข้าเส้นหรือเข้ากล้ามเนื้อ การปล่อยยาเข้าเส้นเลือด โดยใช้ปั๊มขนาดเล็กซึ่งควบคุมโดยตัวผู้ป่วย และการรับประทานยาแก้ปวด อาการปวดจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป และอาจมีอาการปวดบ้างในสองสัปดาห์แรกของการทำกายภาพบำบัด
  4. ผู้ป่วยอาจจะสามารถเดินได้ในวันรุ่งขึ้นโดยใช้เครื่องช่วยพยุง หลังจากนั้นก็จะสามารถเดินได้ดีขึ้น โดยเปลี่ยนจากเครื่องช่วยพยุงเป็นไม้เท้า
  5. ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะพักรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 4-7 วัน
  6. ในกรณีที่ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลก่อนที่แพทย์จะตัดไหมเย็บแผลให้ แพทย์จะทำการตัดไหมเย็บแผลให้ในวันแรกที่กลับมาพบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษา
  7. เป็นเรื่องปกติที่สัปดาห์แรกๆ หลังเข้ารับการผ่าตัด ข้อสะโพกข้างที่ได้รับการผ่าตัดยังคงมีอาการร้อน บวมช้ำ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยต้องติดต่อแพทย์ทันที ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้

7.1 อาการปวดเพิ่มมากขึ้น

7.2 มีอาการบวมมากขึ้น

7.3 มีเลือดหรือน้ำไหลออกมาจากแผลผ่าตัด

7.4 แน่นหน้าอก หรือหายใจไม่สะดวก

7.5 บวมช้ำบริเวณน่องหรือต้นขาข้างที่ได้รับการผ่าตัด

7.6ไข้ไม่ลด หรือมีไข้ทุกวัน

  1. ภายในหกสัปดาห์ หลังจากเข้ารับการผ่าตัด ผู้ป่วยควรจะเดินได้โดยไม่ใช้ไม้เท้าช่วยพยุง
  2. หลังเข้ารับการผ่าตัด ประมาณแปดสัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถกลับไปขับรถได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากแพทย์ก่อน ในกรณีที่ผู้ป่วยใช้รถเกียร์ออโต้และได้รับการผ่าตัดที่ขาข้างซ้าย ผู้ป่วยจะขับรถได้เร็วกว่ากำหนด
  3. การฟื้นตัวของผู้ป่วยแต่ละคน จะแตกต่างกันอย่างมาก ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง และสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะกลับไปทำกิจกรรมต่างๆ ตามปกติในชีวิตประจำวันได้ภายในสิบสองสัปดาห์ หลังเข้ารับการผ่าตัด
  4. สิ่งที่ผู้ป่วยไม่ควรปฏิบัติเพื่อป้องกันการหลุดเลื่อนของข้อสะโพก

11.1หลีกเลี่ยงการงอหรือบิดข้อสะโพกเกิน 90 องศา

11.2หลีกเลี่ยงการนั่งเก้าอี้ต่ำ หรือโซฟาที่ไม่มีพนักเท้าแขน

11.3หลีกเลี่ยงการนั่งไขว้ห้าง หรือการยืนโดยไขว้ขาข้างที่ได้รับการผ่าตัดข้ามแนวกลางลำตัว

11.4 หลีกเลี่ยงการหมุนสะโพกเข้าหาลำตัวขณะที่นั่งหรืองอสะโพก

166166 1

 

หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

วิธีปฏิบัติ ด้านล่างนี้เป็นเทคนิควิธีที่ช่วยในการเคลื่อนไหวร่างกายหลังเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกทียม ท่านสามารถสอบถามเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเทคนิควิธีดังกล่าวจากแพทย์ของท่านก่อนลงมือปฏิบัติ ซึ่งเทคนิคเหล่านี้อาจถูกดัดแปลงโดยนักกายภาพบำบัดของท่านซึ่งจะดัดแปลงให้เข้ากับสถานการณ์แวดล้อม และปัจจัยต่างๆ เช่นอายุและน้ำหนักตัวของท่าน ควรปฏิบัติตามเฉพาะเทคนิควิธีที่แพทย์หรือนักกายภาพบำบัดของท่านแนะนำเท่านั้น

การลงจากเตียง

 166 2a   ขั้นที่ 1
เขยิบลงจากเตียงไปยังด้านเดียวกันกับขาข้างที่ผ่านการผ่าตัด แพทย์หรือนักกายภาพบำบัดจะสาธิต และแนะนำให้ท่านถึงวิธีลงจากเตียงที่เหมาะสม และอาจช่วยพยุงท่านในครั้งแรกๆ ระหว่างที่ท่านพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล
     
 166 2b   ขั้นที่ 2
เลื่อนสะโพกของคุณโดยใช้ข้อศอกช่วยดัน ขณะที่ท่านเขยิบขาข้างที่ผ่านการผ่าตัดลงมาข้างๆเตียง พยายามทำให้ทำลำตัวตรง และห้ามบิดหรือหมุนขา
     
 166 3   ขั้นที่ 3
เคลื่อนขาข้างที่ไม่ผ่านการผ่าตัดมาไว้ข้างๆ ขาข้างที่ผ่านการผ่าตัด และนั่งลงบนขอบเตียง พยายามทำให้ขาข้างที่ผ่านการผ่าตัดเหยียดตรง จับเครื่องช่วยพยุง 4 ขา (วอกเกอร์) เพื่อช่วยรองรับน้ำหนักขณะที่ท่านยืนขึ้น และหลีกเลี่ยงการงอขาหรือพับขาไปด้านหลัง ขณะที่ท่านพยายามยืนขึ้น

 

การนั่งลง

ท่านั่งที่มั่นคงคือ หลังแนบพนักพิง มือจับพนักเท้าแขนทั้งสองข้าง ท่านควรหลีกเลี่ยงเก้าอี้ที่เตี้ยมากๆ
หรือเก้าอี้ที่บุนวมหนาเป็นพิเศษ

 166 4   ขั้นที่ 1
จับวอกเกอร์เอาไว้ จนกระทั่งท่านรู้สึกว่าเก้าอี้สัมผัสถูกน่องทั้งสองข้าง
     
 166 5   ขั้นที่ 2
ค่อยปล่อยมือจากวอกเกอร์ และย่อตัวลงต่ำ เคลื่อนมือมากจับพนักเท้าแขนทั้งสองข้าง จากนั้นพยายามทำให้ขาข้างที่ผ่านการผ่าตัดเหยียดตรง และเหยียดไปข้างหน้า
     
 166 6   ขั้นที่ 3
นั่งลง และเขยิบตัวไปทางด้านหลังให้ชิดพนักพิง งอขาข้างที่ไม่ได้ผ่านการผ่าตัดก่อน (ท่านสามารถใช้เทคนิควิธีนี้สำหรับการใช้โถชักโคกที่มีราวจับได้เช่นกัน)

 

การเดิน

หลังจากการผ่าตัดระยะหนึ่ง ท่านจะสามารถยืนขึ้นได้โดยใช้วอกเกอร์ช่วยในการทรงตัว ในเบื้องต้นขณะที่ท่านฝึกเดินท่านจะได้รับการบอกกล่าวจากแพทย์ให้ลงน้ำหนักที่ขาข้างที่ได้เข้ารับการผ่าตัดเพียงเล็กน้อย เมื่อท่านแข็งแรงขึ้น แพทย์ก็จะบอกให้ท่านลงน้ำหนักที่ขาข้างนั้นมากขึ้น

 166 7   ขั้นที่ 1
วางวอกเกอร์ให้ห่างออกไปยังทิศทางที่จะเดินไปข้างหน้าประมาณ 2-3 นิ้ว จับวอกเกอร์ให้แน่นด้วยมือทั้งสองข้าง พยายามทำให้ข้อสะโพกตรง และก้าวเท้าข้างที่ไม่ผ่านการผ่าตัดไปกึ่งกลางของวอกเกอร์ หลีกเลี่ยงการหมุนสะโพกและขา
     
 166 8   ขั้นที่ 2
โน้มตัวไปข้างหน้า และปล่อยให้วอกเกอร์ รับน้ำหนักตัวของท่าน ก้าวเท้าข้างที่เข้ารับการผ่าตัดตามไปข้างหน้าอย่างระมัดระวัง อย่าให้เท้าของท่านพันกับเท้าของเครื่องช่วยพยุง
     
 166 9   ขั้นที่ 3
ยกวอกเกอร์ขึ้นตรงๆ (ถ้าวอกเกอร์ไม่มีล้อเลื่อน) ตรวจสอบให้มั่นใจว่าขาทั้งสี่ของวอกเกอร์วางแนบสนิทกับพื้น ทุกครั้งก่อนที่จะเริ่มก้าวเดินไปข้างหน้า

 

ไม้ยันรักแร้

เมื่อกล้ามเนื้อขาของท่านแข็งแรงขึ้น แพทย์หรือนักกายภาพบำบัดก็จะแนะนำให้ท่านเปลี่ยนจากการใช้เครื่องช่วยพยุงสี่ขาเป็นไม้ยันรักแร้ และจะแนะนำท่านถึงระยะทางที่ท่านควรจะต้องฝึกเดินเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อในแต่ละวัน

 166 10   ขั้นที่ 1
จับไม้ยันรักแร้ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมและมั่นคง ใช้กำลังจากแขนของท่านพยุงไม้ยันรักแร้ ไม่ควรใช้กำลังจากบริเวณแขนหนีบ
     
 166 11   ขั้นที่ 2
ก้าวเท้าข้างที่ผ่านการผ่าตัด ในจังหวะเดียวกันกับการเคลื่อนไม้ยันรักแร้ทั้งสองข้างไปข้างหน้า
     
 166 12   ขั้นที่ 3
เงยหน้าและมองไปข้างหน้า ก้าวเท้าข้างที่ไม่ผ่านการผ่าตัดตามออกไป
     
 166 13   การเดินขึ้นบันไดโดยใช้ไม้ยันรักแร้

วางไม้เท้าทั้งสองข้างให้ตรง และมั่นคง เพื่อรองรับน้ำหนักของร่างกาย ยกเท้าข้างที่ไม่ได้รับการผ่าตัดขึ้น และวางไปบนบันไดขั้นแรก โน้มตัวไปข้างหน้า โดยใช้ไม้เท้าทั้งสองข้างและเท้าข้างที่ไม่ได้รับการผ่าตัด เป็นเครื่องช่วยรับน้ำหนักตัว จากนั้นยกเท้าข้างที่ได้รับการผ่าตัดขึ้นและวางไว้ที่ขั้นบันได คุณอาจต้องการคนช่วยท่านขณะขึ้นบันไดใน 2-3 ครั้งแรกๆ จนกระทั่งท่านรู้สึกคุ้นเคยกับการขึ้นบันได

 

     
 166 14   การเดินลงบันไดโดยใช้ไม้ยันรักแร้

การก้าวเท้าข้างที่ผ่านการผ่าตัดในจังหวะเดียวกันกับการ เคลื่อนไม้เท้าทั้งสองข้างลงไปบนบันไดขั้นที่อยู่ต่ำลงไป ใช้ไม้เท้าทั้งสองข้างเพื่อให้เกิดความสมดุล และรองรับน้ำหนักตัวขณะก้าวลงบันได ซึ่งในระยะแรกๆ ท่านอาจต้องการผู้ช่วย

 

หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่มีความเสี่ยง

ในระยะแรก การเคลื่อนไหวบางท่านจะทำให้ข้อสะโพกของท่านตึงเกินไป ซึ่งอาจทำให้ข้อสะโพกเทียมหลุดจากเบ้าสะโพกได้ นักกายภาพบำบัดหรือแพทย์จะให้คำแนะนำท่านเพื่อหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง

การนั่ง

166 15

อย่า นั่งไขว้ห้าง หรือวางเท้าข้างที่ผ่านการผ่าตัดข้ามแนวกลางลำตัว
ควร นั่งโดยให้เท้าทั้งสองข้างวางอยู่บนพื้น โดยให้หัวเข่าทั้งสองข้างห่างจากกันประมาณ 6 นิ้ว

 

การหมุนตัว

166 16

อย่า หมุนเท้าข้างใดข้างหนึ่งเข้าข้างใน
ควร หมุนเท้าทั้งสองข้างพร้อมทั้งลำตัวไปพร้อมๆ กัน

 

การก้มตัวลงข้างล่าง

166 17

อย่า โค้งตัวลงเพื่อเก็บของที่อยู่บนพื้น
ควร ใช้อุปกรณ์ที่มีด้ามยาวช่วยเก็บของที่อยู่บนพื้น

 

>> ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  http://www.firstphysioclinics.com

 

>>> เฟิร์สฟิสิโอคลินิกกายภาพบำบัด (FIRSTPHYSIO)

>> > LINE ID: 0852644994

>>> TEL. 085-264-4994

 

Facebook Comments