ตอนที่49:ไหล่ติด (Frozen Shoulder)
ไหล่ติด (Frozen Shoulder)
ความเป็นมาของโรคไหล่ติด
ในปัจจุบันพบรายงานอุบัติการณ์การเกิดโรคไหล่ติดประมาณ 2 % ของประชากรปกติ พบมากในช่วงอายุ 50 –60 ปี โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย สาเหตุเกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อไหล่ แล้วเกิดพังผืดในข้อไหล่ ทำให้ข้อไหล่ขยับได้น้อยลง ในช่วงแรกของการดำเนินโรคจะมีอาการปวดไหล่ แล้วตามมาด้วยข้อไหล่เริ่มติดและอาการปวดค่อย ๆ ลดลง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีการจำกัดการเคลื่อนไหวในท่ากางแขน (abduction) หมุนแขนออก (external rotation) และหมุนแขนเข้า (internal rotation) การรักษาในผู้ป่วยข้อไหล่ติดมีวัตถุประสงค์เพื่อลดอาการปวด และเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหว การรักษาผู้ป่วยข้อไหล่ติดประกอบไปด้วยความร้อนทั้งความร้อนตื้นและความร้อนลึก การรักษาด้วยการออกกำลังกายโดยจะให้การออกกำลังกายแบบเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การยืดกล้ามเนื้อ และการรักษาด้วยวิธีการขยับ ดัดดึง ข้อต่อ
ปัจจัยที่มีผลต่อภาวะข้อไหล่ติด
พบบ่อยในช่วงอายุ 50 – 60 ปี ที่บาดเจ็บบริเวณข้อไหล่ ทั้งแบบเกิดขึ้นเอง (idiopathic) เกิดหลังการผ่าตัด (postoperative) หรือเกิดหลังอุบัติเหตุ (post- traumatic) ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดต้องใช้อินซูลิน ภาวะกระดูกสันหลังส่วนคอกดทับเส้นประสาท และโรคระบบประสาทอื่น ๆ
การรักษาทางการแพทย์
- การรับประทานยาแก้ปวด
- ยาแก้อักเสบ
- การฉีดยาสเตียรอยด์
- การผ่าตัด
การรักษาทางกายภาพบำบัด
- การใช้ความร้อนตื้นและความร้อนลึก
- การใช้ความเย็นในระยะอักเสบ
- การรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูง การรักษาด้วยคลื่นเหนือเสียง
- การรักษาด้วยวิธีการขยับ ดัดดึง ข้อต่อ
- การออกกำลังกาย โดยการใช้รอก, ถุงทราย และดัมเบล
- อุปกรณ์พยุงไหล่ช่วยลดอาการปวดไหล่ ใช้สำหรับในรายที่มีอาการปวดมากๆ
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คลินิกกายภาพบำบัดเฟิร์ส ฟิสิโอ
สายด่วน 085-264-4994