ตอนที่74:นิ้วล็อก
นิ้วล็อก
นิ้วล็อก หมายถึง อาการที่งอข้อนิ้วมือ แล้วเหยียดขึ้นเองไม่ได้เหมือนถูกล็อก เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทั่วไปที่ต้องใช้มือจับสิ่งของ หรืออุปกรณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่องบ่อยๆ โรคนี้ไม่มีอันตรายใดๆ เพียงแต่ให้ความรู้สึกเจ็บปวด และใช้มือได้ไม่ถนัด เป็นโรคที่สามารถป้องกันและรักษาให้หายได้ ชาวตะวันตกจึงตั้งชื่อตามอาการที่เกิดว่า “Trigger finger”ส่วนคนไทยเรียกตามที่เห็นว่า ”นิ้วล็อก” สำหรับชื่อทางการแพทย์เรียกว่า “Digital flexor tenosynovitis หรือ Stenosingtenosynovitis ” ซึ่งนิ้วล็อกมักจะเกิดกับนิ้วหัวแม่มือ นิ้วนาง นิ้วกลาง นิ้วชี้ และนิ้วก้อย ตามลำดับ อาการของนิ้วล็อกมักเกิดกับนิ้วมือข้างถนัด หรือมือขวาเป็นส่วนใหญ่
วงจรการเกิดนิ้วล็อก
เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต เมื่อมีเกิด ย่อมมีเสื่อม มีดับไปตามวาระ การเสียดสีไปมาของเส้นเอ็นกับปลอกหุ้มเส้นเอ็น(อุโมงค์) ขณะที่งอหรือเหยียดนิ้ว เส้นเอ็นหรืออุโมงค์อาจบาดเจ็บหรืออักเสบได้ เมื่อเกิดซ้ำๆ เส้นเอ็นหรืออุโมงค์จะปรับตัวหนาขึ้น เส้นเอ็นจะสูญเสียความยืดหยุ่น ประกอบกับช่องอุโมงค์ที่แคบเข้า ส่งผลให้เส้นเอ็นลอดผ่านอุโมงค์ลำบากยิ่งขึ้น
ถ้าฝืนใช้นิ้วมือที่เจ็บ จะทำให้ตำแหน่งที่เส้นเอ็นเคลื่อนเสียดสีกับอุโมงค์อักเสบและบวมมากขึ้น ที่สุดจะปรับตัวหนาเป็นปม ทำให้เส้นเอ็นเคลื่อนลอดผ่านอุโมงค์ลำบากและเกิดความเจ็บปวดมากขึ้น ถ้าพยายามเหยียดนิ้วต่อไปจะเกิดเสียงดัง ” ป๊อป” คล้ายเสียงไกปืนลั่น เป็นสัญญาณว่าปมเส้นเอ็นปลิ้นลอดผ่านอุโมงค์ได้แล้ว นิ้วจึงเหยียดได้
ความพยายามจะงอหรือเหยียดนิ้ว ทั้งๆที่ทำด้วยความยากลำบาก ทำให้บริเวณนั้นอักเสบและบวมมากขึ้น เป็นวงจรของการเกิดนิ้วล็อก อักเสบ บวม งอได้ เหยียดไม่ออก เมื่อไม่ได้รับการรักษานิ้วนั้นจะติดในท่างอเหยียดไม่ได้ถาวร
สาเหตุของนิ้วล็อก
เกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นที่ใช้ในการงอข้อนิ้วมือ ซึ่งอยู่ตรงบริเวณโคนนิ้วมือ ทำให้เส้นเอ็นหนาตัวขึ้น และติดขัดในการเคลื่อนไหวขณะเหยียดนิ้วมือ เมื่ออักเสบรุนแรงมากขึ้นจะเกิดปุ่มตรงเส้นเอ็น เวลางอนิ้วมือปุ่มจะอยู่นอกปลอกหุ้ม แต่ไม่สามารถเคลื่อนเข้าปลอกหุ้ม เวลาเหยียดนิ้วมือกลับไป ทำให้เกิดอาการนิ้วล็อกอยู่ในท่างอ ต้องออกแรงช่วยใน การเหยียด จึงจะสามารถฝืนให้ปุ่มเคลื่อนที่ผ่านปลอกหุ้มเข้าไปได้
การอักเสบของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นนิ้วมือมักเกิดจากแรงกดหรือเสียดสีของเส้นเอ็นซ้ำซาก หรือใช้งานฝ่ามือมากเกินไป เช่น การใช้มือหยิบจับอุปกรณ์ในการทำงานบ้าน ทำสวน ขุดดิน เล่นกีฬา เล่นดนตรี เป็นต้น โรคนี้จึงพบบ่อยในกลุ่มแม่บ้าน เลขานุการที่พิมพ์ดีดบ่อยๆ ผู้ที่ชอบเล่นกีฬา (เช่น กอล์ฟ เทนนิส) หรือเล่นดนตรี (เช่น ไวโอลิน) นอกจากนี้ยังพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อรูมาตอยด์ เบาหวาน ภาวะขาดไทรอยด์
การรักษาทางการแพทย์
– การรับประทานยา เพื่อลดการอักเสบของเส้นเอ็น และลดอาการปวด
– การฉีดยาสเตียรอยด์ ที่บริเวณเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่มีการอักเสบ อาการอักเสบจะดีขึ้นหลังจากฉีดยา ไม่ควรฉีดยามากกว่า 3 ครั้ง เพราะการฉีดยาอาจทำให้เส้นเอ็นเปื่อยหรือขาดได้
– การรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อตัดปลอดหุ้มเส้นเอ็นที่อักเสบ แล้วเลาะพังผืดบริเวณนั้นที่หนาตัวขึ้นและขาดความยืดหยุ่นออก
– การทำกายภาพบำบัด เพื่อลดอาการปวดและอาการตึงของเส้นเอ็น ได้แก่ การทำอุลตร้าซาวน์และการออกกำลังกายนิ้วมือ
การรักษาทางกายภาพบำบัด
1. การใช้ความร้อนในการรักษา เช่น การแช่พาราฟิน แช่น้ำอุ่น
2. การใช้แผ่นความเย็นรักษาในระยะอักเสบ
3. การรักษาด้วยคลื่นเหนือเสียง
4. การรักษาด้วยวิธีการขยับ ดัดดึง ข้อต่อ
5. การใส่อุปกรณ์ดามนิ้ว เช่น Wrist Splint