ตอนที่17:สมาธิบำบัด ยารักษาโรคคนรุ่นใหม่ ง่ายๆ ได้ผลเกินคาด
สมาธิบำบัด
สมาธิ คือ การผ่อนคลายจากชีวิตที่ยุ่งเหยิง และจิตใจที่ว้าวุ่น
ปัจจุบันการทำสมาธิมีด้วยกันหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เพื่อให้เหมาะกับรสนิยมของแต่ละบุคคล การเลือกรูปแบบก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะส่วนใหญ่เรามักจะไม่ชอบการทำสมาธิ เพราะมักคิดถึงการนั่งหลับตาและความน่าเบื่อ ในความเป็นจริงแล้ว การทำสมาธิไม่ได้มีแค่รูปแบบการนั่งเพียงอย่างเดียว ยังมีการยืน การทำสมาธิหน้าคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่การนอนสมาธิ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์และความต้องการของผู้ทำสมาธิว่าต้องการสิ่งใดจากการทำกิจกรรมนี้ เช่น
ทำสมาธิเพื่อคลายเครียด
ทำสมาธิเพื่อรักษาโรค
ทำสมาธิเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนสอบ
ทำสมาธิก่อนแข่งขันกีฬา
ทำสมาธิเนื่องจากนอนไม่หลับ
ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดๆ การทำสมาธิจะทำให้เราสามารถควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น เกิดความคิดในการเฝ้าระวังต่อเหตุการณ์ต่างๆ และทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างถูกต้องลื่นไหล
แนะนำรูปแบบการทำสมาธิบำบัด
รูปแบบที่ 1 นั่งผ่อนคลาย ประสานกาย ประสานจิต
เป็นการนั่งหรือนอนปฏิบัติสมาธิด้วยการหายใจเข้าทางจมูกลึกๆ และหายใจออกทางปากช้าๆ
- ถ้าหากนั่งให้หงายฝ่ามือทั้ง 2 ข้าง วางบนเข่า ท่านอนให้วางแขนด้านข้างลำตัวหงายฝ่ามือ หรือคว่ำฝ่ามือไว้บนหน้าท้อง
- ค่อยๆ หลับตาลงช้าๆ สูดลมหายใจเข้าทางจมูกลึกๆ ช้าๆ นับ 1-5 กลั้นลมหายใจนับ 1-3 แล้วค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกทางปากช้าๆ พร้อมกับนับ 1-5 อีกครั้ง ถือว่าครบ 1 รอบ ทำซ้ำ 30-40 รอบแล้วค่อยลืมตาขึ้น
รูปแบบที่ 2 ยืนผ่อนคลาย ประสานกาย ประสานจิต
เป็นการยืน นั่งหรือนอนปฏิบัติสมาธิด้วยการหายใจเข้าทางจมูกลึกๆ และหายใจออกทางปากช้าๆ
- ยืนตรงในท่าที่สบาย สวมหรือไม่สวมรองเท้าก็ได้ แยกเท้าห่างเท่ากับช่วงไหล่ หลับตาลงช้าๆ
- ค่อยๆ ชูมือขึ้นเหนือศีรษะฝ่ามือสองข้างประสบกันต้นแขนแนบศีรษะ
- สูดลมหายใจเข้าทางจมูกลึกๆ นับ 1-5 กลั้นหายใจนับ 1-3 ช้าๆ แล้วค่อยผ่อนลมหายใจออกทางปากช้าๆ พร้อมกับนับ 1-5 อีกครั้ง ถือว่าครบ 1 รอบ ทำซ้ำ 30-40 รอบ
- ค่อยแยกฝ่ามือออกจากกันช้าๆ แขนตรงและเหยียด ในท่าหงายฝ่ามือ ค่อยๆ ลดระดับมือลงพร้อมกับลดระดับแขนที่ยืดเหยียดและมือลงไป 1 จังหวะ ลดระดับมือลงพร้อมกับลดระดับแขนที่ยืดเหยียดและมือลงไปอีก 1 จังหวะ นับ 2 ค่อยๆ ลดมือลงช้าๆ นับจังหวะไปเรื่อยๆ จนถึง 30
- สำหรับผู้สูงอายุควรฝึกในท่านั่งหรือนอนสมาธิก็ได้
ในท่านั่งต้องนั่งเก้าอี้ครึ่งก้น เท้าวางราบขนานกับพื้น หลังตรง และยกมือขึ้นทำท่าเดียวกับท่ายืน
ในท่านอน ต้นแขน 2 ข้าง ต้องแนบใบหู ฝ่ามือที่ประกบกันต้องไม่ปล่อยลงไปตกระดับพื้น การลดระดับแขนลงต้องทำช้าๆ ค่อยๆ ลดลง ข้อศอกพับแล้วค่อยๆ ลดมือลงจนถึงต้นขานับ 1-30 จังหวะ เช่นเดียวกับท่ายืนและนั่ง
รูปแบบที่ 3 นั่งยืด-เหยียด ผ่อนคลาย
- นั่งบนพื้นราบในท่าที่สบาย เหยียดขา เข่าตึง หลังตรง เท้าชิด คว่ำฝ่ามือบนต้นขาทั้ง 2 ข้าง ค่อยๆ หลับตาลงช้าๆ สูดลมหายใจเข้าจมูกลึกๆ ช้าๆ นับ 1-5 กลั้นหายใจ นับ 1-3 ช้าๆ แล้วค่อยๆ เป่าลมหายใจออกทางปากช้าๆ นับ 1-5 อีกครั้ง ทำซ้ำ 3 ครั้ง
- หายใจเข้าทางจมูกลึกๆ ช้าๆ พร้อมกับโน้มตัวไปทางด้านหน้าผลักฝ่ามือทั้ง 2 ข้างไปด้านหน้า ค่อยๆ ลูบจากเข่า หน้าแข็ง ไปถึงข้อเท้า ให้ปลายมือจรดข้อเท้าหรือนิ้วเท้า กลั้นหายใจ นับ 1-3
- ค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกทางปากช้าๆ ฝ่ามือลูบหน้าแข้ง เข่า พร้อมกับค่อยๆ เอนตัวไปข้างหลัง เงยหน้าขึ้น หน้าท้องตึงให้ได้มากที่สุด นับเป็น 1 รอบ ทำซ้ำ 30 รอบ ลืมตาขึ้นช้าๆ นั่งตัวตรงตามปกติ
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คลินิกกายภาพบำบัดเฟิร์ส ฟิสิโอ
www.firstphysioclinic.com สายด่วน 085-264-4994
อ้างอิงรูปภาพ : รศ.ดร. สมพร กันทรดูษฎี เตรียมชัยศรี
More