ตอนที่33:ปวดศอก
ปวดข้อศอกเวลาออกแรงทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น ยกของหนัก ทำงานบ้าน บิดผ้า เป็นต้น และกดเจ็บบริเวณตุ่มกระดูกข้อศอกด้านนอก เราเรียกอาการเช่นนี้ว่า Tennis elbow แต่ถ้าอาการเจ็บอยู่ที่ตุ่ม
กระดูกข้อศอกทางด้านใน เราเรียกอาการนี้ว่า Golfer elbow ซึ่งจะได้กล่าวถึงในดอากาศต่อไป
พบว่าผู้ป่วยส่วนมากมีอาการของ Tennis elbow มากกว่า Golfer elbow ถึงประมาณ 7 เท่า และพบโรคนี้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย อายุที่พบบ่อยประมาณ 40 – 50 ปี และพบเกิดอาการในแขนข้างที่
ถนัดมากกว่าประมาณ 2 เท่า
อาการของโรค Tennis elbow นี้แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
กลุ่มที่ 1 เกิดจากการเล่นกีฬาจริงๆ ส่วนมากในกลุ่มนี้จะมีอายุน้อย
กลุ่มที่ 2 เกิดจากการทำงานที่เป็นลักษณะใช้งานซ้ำๆ หรือใช้งานหนักๆ เช่น คนทำงานบ้าน ช่างไม้ เป็นต้น ซึ่งในกลุ่มนี้ส่วนมากมีอายุมากกว่ากลุ่มแรก ปัจจุบันนี้พบว่าผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ส่วนมากเป็นคน
ทำงานมากกว่านักกีฬา
แนวทางในการรักษาสำหรับโรคนี้แบ่งใหญ่ๆ เป็น 2 แนวทาง คือ
1. การรักษาโดยวิธีประคับประคอง (conservative treatment) โดยแพทย์และกายภาพบำบัด
2. การรักษาโดยวิธีผ่าตัด (operative treatment) โดยแพทย์
ผู้ป่วยส่วนมาก (มากกว่า 90%) อาการจะดีขึ้นได้ด้วยวิธีประคับประคอง โดยการรักษาวิธีนี้ยังแบ่งออกเป็น
1.1 วิธีการทางกายภาพบำบัด
– การพักการใช้งานและพักการออกแรงหนักๆ ในแขนข้างที่ปวด (rest)
– การใส่สนับข้อศอกเฉพาะโรคนี้ (tennis elbow brace) โดยใส่เพื่อลดแรงที่มากระทบต่อจุดเกาะของกล้ามเนื้อเวลาออกแรงทำงานหรือเล่นกีฬา
– การออกกำลังกาย เป็นการออกกำลังกายแบบยืดกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น (stretching exercise) โดยเริ่มออกกำลังกายวิธีนี้หลังจากอาการปวดลดลงแล้วจากการรักษาสองวิธีแรกประมาณ
3-6 สัปดาห์
1.2 วิธีการทางแพทย์
– การให้ยารับประทาน โดยยาที่ใช้เป็นยากลุ่มลดการอักเสบลดอาการปวด อาจเสริมด้วยยาคลายกล้ามเนื้อหรือยาแก้ปวดกลุ่มอื่นๆ
– การฉีดยากลุ่มลดการอักเสบสเตียรอยด์ ใช้เมื่อปวดมากหรือรักษาด้วยวิธีต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้วมากกว่า 3 เดือนอาการยังไม่ดีขึ้น โดยฉีดยาเข้าตรงบริเวณข้อศอกตำแหน่งที่เจ็บ ผู้ป่วยส่วนมาก
อาการจะดีขึ้นหลังฉีดยา
2. แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดเมื่อให้การรักษาด้วยวิธีประคับประคองแล้วอย่างน้อย 6 – 9 เดือน แต่ยังปวดมากและอาการไม่ดีขึ้น หรือในกรณีที่ฉีดยาไปแล้วหลายครั้งก็ยังกลับมีอาการอีก (ไม่ควรฉีดยาเกิน 3 ครั้ง)
สามารถป้องกันเบื้องต้น ได้ดังต่อไปนี้
1. เมื่อทำงานแล้วเริ่มมีอาการเมื่อยบริเวณด้านนอกของข้อศอก ให้พักการทำงาน โดยอาจหยุดการทำงานเลย หรืออาจทำงานให้ช้าลง เราอาจเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่นที่ไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อด้านนอกข้อศอก
2. เลือกอุปกรณ์ให้เหมาะสม หรือใช้อุปกรณ์เสริม เพื่อลดการทำงานของกล้ามเนื้อ เช่น นักกีฬาต้องเลือกไม้แร็กเก็ตให้เหมาะสมเฉพาะบุคคลและเกมการเล่น พนักงานทาสีอาจใช้อุปกรณ์ เช่น ลูกกลิ้งที่เปลี่ยนการทำงานในลักษณะการปัดแปลงเป็นการใช้มือดันขึ้นลง
3. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะท่าออกกำลังกายที่แนะนำไว้ข้างบน เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและสู้กับงานได้ การออกกำลังกายอาจถูกมองว่าต้องใช้กล้ามเนื้อทำงาน ซึ่งแน่นอนสามารถทำให้เกิดอาการได้เช่นกัน แต่ถ้าออกกำลังปริมาณที่เหมาะสม ตามที่กล่าวไว้ก็จะไม่ก่อให้เกิดอาการ