ตอนที่10:กายภาพบำบัด…. กับ….”อัมพาต”
กายภาพบำบัดในผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก
อัมพฤกษ์ อัมพาต คือ อาการที่อวัยวะบางส่วนของร่างกาย เช่น แขน ขา ไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือกระดุกกระดิกได้ และการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อบางส่วน ที่เกิดจากภาวะเหล่านี้
สาเหตุการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต
– เส้นเลือดในสมองแตก
สาเหตุมาจากหลายปัจจัย ที่สำคัญได้แก่การเกิดภาวะความดันโลหิตสูง โรคเครียด ติดแอลกอฮอล์ โรคอ้วน
– เส้นเลือดในสมองตีบ
สาเหตุมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีไขมันมากจนเกิดการสะสมในผนังหลอดเลือด และเลือดมีความเข้มข้นสูงเนื่องจากสูบบุหรี่ทำให้ปอดขาดออกซิเจน ร่างกายจึงเร่งสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้เลือดเข้มข้นจนหนืด เลือดจึงไม่สามารถแทรกไปเลี้ยงสมองได้
– เส้นเลือดในสมองอุดตัน
สาเหตุเกิดขึ้นจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น ลิ้นหัวใจรั่ว หัวใจเต้นผิดปกติทำให้เกิดลิ่มเลือด และหลุดเข้าไปในกระแสเลือด เกิดการอุดตันทำให้เลือดไม่สามารถไหลผ่านไปเลี้ยงสมองได้
อาการแสดงของผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต
มีความผิดปกติทางด้านการเคลื่อนไหว เช่น ไม่สามารถขยับแขน ขา และลำตัวได้ เนื่องจากการอ่อนแรง และการควบคุมการเคลื่อนไหวผิดปกติ แต่อาการความผิดปกติจะแสดงออกอย่างไรและมากน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้านเช่น บริเวณสมองที่ถูกทำลาย ระยะเวลาในการเจ็บป่วยก่อนถึงมือแพทย์ อายุและเพศ
การป้องกันการเกิดอัมพาต
– งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และอาหารที่มีไขมันมาก, ลดน้ำหนัก (ถ้าอ้วน), และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อป้องกันมิให้หลอดเลือดแข็งตัวเร็ว
– ตรวจความดันเลือดเป็นประจำ
– ตรวจไขมันในเลือด ถ้ามีภาวะไขมันในเลือดสูง ควรหาทางควบคุมให้เป็นปกติ
– ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน ควรรักษาเป็นประจำอย่าได้ขาด เพราะเมื่อควบคุมโรคเหล่านี้ได้ ก็จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัมพาต
– ถ้าเคยมีอาการอัมพาตชั่วคราวจากสมองขาดเลือดชั่วขณะ ควรรีบปรึกษาแพทย์ และกินยาแอสไพริน (หรือยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด) ตามแพทย์สั่งเป็นประจำอย่าได้ขาด
การรักษาผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต
รักษาตามสาเหตุและอาการที่เกิดขึ้น โดยมีหลักในการรักษาคือ
– สาเหตุรุนแรงมากหรือน้อย สมองส่วนที่เหลือสามารถเจริญขึ้นมาทดแทนเซลล์ที่เสียไป และเซลล์สมองนั้นสามรถเกิดใหม่ได้
– ระยะเวลาในการรักษายิ่งรักษาเร็วยิ่งดี สมองที่ขาดเลือดไปเลี้ยง ยิ่งปล่อยไว้นาน สมองจะตายแบบไม่ฟื้น หากรับการรักษาโดยเร็วจะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้เกือบปกติ
– การรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสมยิ่งดีกับตัวผู้ป่วย เช่น การผ่าตัด ยา และกายภาพบำบัด
– ญาติและคนใกล้ชิดและผู้ป่วยต้องร่วมมือและดูแลกันอย่างจริงใจ
การรักษาทางกายภาพบำบัดในผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต
นักกายภาพบำบัดมีบทบาทในการดูแลรักษาผู้ป่วยอัมพาตที่สำคัญได้แก่ทางด้านการเคลื่อนไหว เมื่อสมองบริเวณหนึ่งได้รับบาดเจ็บบริเวณใกล้เคียงจะหยุดการทำงาน เป็นผลให้การเคลื่อนไหวร่างการลดลงหรือไม่เกิดขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป การเคลื่อนไหวของร่างกายสามารถกลับคืนมาได้ เนื่องจากเซลล์สมองเกิดการจัดโครงสร้างใหม่โดยกลไก และจำเป็นต้องมีการเรียนรู้เพื่อฝึกพัฒนา ปรับปรุงซ่อมแซมการทำงานเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด โดยนักกายภาพบำบัดจะเป็นผู้ฝึกการเคลื่อนไหวเหล่านี้ให้กับผู้ป่วยอัมพาตด้วยเทคนิค วิธีการและเครื่องมือทางกายภาพบำบัด
นักกายภาพบำบัดฝึกเดินในผู้ป่วยอัมพาต
นักกายภาพบำบัดฝึกผู้ป่วยอัมพาตเพื่อฝึกการเรียนรู้ในการประกอบกิจวัตรประจำวัน เช่น การกินข้าว การแต่งกาย การเคลื่อนย้ายตัว
นักกายภาพบำบัดสอนการดูแลผู้ป่วยที่บ้านให้กับญาติ
นักกายภาพบำบัดสอนและออกโปรแกรมการออกกำลังกายให้กับผู้ป่วยเพื่อฝึกต่อที่บ้าน
นักกายภาพบำบัดฝึกกระตุ้นกล้ามเนื้อในผู้ป่วยอัมพาตเพื่อเพิ่มลดอาการเกร็ง หรืออาการปวดบริเวณไหล่ และป้องกันข้อติด และเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ
สำหรับผู้ป่วยอัมพาตที่มีอาการปลายเท้าตก เกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อในการทำหน้าที่กระดกปลายเท้า ซึ่งการกระดกปลายเท้าขึ้น เป็นขั้นตอนสำคัญในการเดิน หากผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงจะทำให้ขณะเดินไม่สามารถยกเท้าพ้นพื้นได้ และจะส่งผลต่อการลงน้ำหนัก น้ำหนักส่วนใหญ่จะตกลงบริเวณปลายเท้าส่งผลต่อการทรงตัว และรูปแบบการเดิน เพราะลงน้ำหนักได้ไม่เต็มที่
วิธีการแก้ไข
– ในผู้ที่มีอาการอ่อนแรงเล็กน้อยให้ฝึกออกกำลังเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อกระดกปลายเท้า
– ในกรณีที่ผู้ป่วยอ่อนแรงมาก กระดกข้อเท้าได้น้อยจะต้องใส่อุปกรณ์กันข้อเท้าตก (AFO) ในการฝึกเดิน คลิก อุปกรณ์กันข้อเท้าตก อุปกรณ์พยุงส้นเท้าและฝ่าเท้าชนิดสำเร็จรูป