ตอนที22:ปลายเท้าตก ต้องทำอย่างไร ??
ปลายเท้าตกต้องทำอย่างไร ???
ผู้ป่วยอัมพาต หรือ ผู้ป่วยกระดูกหลังกดทับเส้นประสาท ที่มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อกระดกปลายเท้า ส่งผลให้เกิดความลำบากขณะเดิน เนื่องจากไม่สามาถยกเท้าให้พ้นพื้นได้และจะเกิดรูปแบบการเดินที่ผิดปกติขึ้น
ขณะเดินเท้าทั้งสองข้างจะทำงานสัมพันธ์กันและเดินเป็นจังหวะ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะข้อเท้าตกด้านซ้าย เมื่อก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า เท้าซ้ายจะไม่สามารถก้าวตามมาได้อย่างปกติเนื่องจากกล้ามเนื้อกระดกปลายเท้าอ่อนแรงส่งผลให้ปลายนิ้วเท้าลากถูไปกับพื้น เดินสะดุด หรือในบางรายจะเกิดการชดเชยของร่างกายเกิดการเดินที่ผิดรูปแบบ เช่น มีการโน้มตัวไปด้านหน้า กางสะโพกซ้ายเล็กน้อย เพื่อเหวี่ยงสะโพกให้เท้าสามารถลอยพ้นพื้นได้ แต่การลงน้ำหนักเท้าซ้ายจะไม่ดี น้ำหนักตกลงปลายเท้าเยอะ ส่งผลต่อการทรงตัวที่ไม่ดี เดินได้อย่างไม่มั่นคง ท่าทางการเดินแบบนี้เป็นท่าทางที่ผิดธรรมชาติ หากปล่อยให้ผู้ป่วยเดินในลักษณะนี้ต่อไปอาจเกิดผลเสียต่อผู้ป่วย เช่น ข้อเท้าติดแข็ง กล้ามเนื้อกระดกปลายเท้าอ่อนแรงเพิ่มขึ้นหรือฝ่อลีบ และอาการปวดกล้ามเนื้ออื่นๆ ที่ทำหน้าชดเชยจากการเดินหรือทำหน้าที่ผิดวิธีหรือมากเกินไป
วิธีการแก้ไข
ปัญหาปลายเท้าตกแก้ไขได้หลายวิธี ซึ่งนักกายภาพบำบัดจะต้องตรวจประเมินผู้ป่วยอย่างละเอียดถึงสาเหตุการเกิดปัญหาปลายเท้าตกแล้วทำการแก้ไขด้วยวิธีทางกายภาพบำบัดเช่น กระตุ้นความแข็งแรงของกล้ามเนื้อกระดกปลายเท้า ในขณะเดียวกันจะต้องคงองศาการเคลื่อนไหวของข้อต่างๆ ไว้ด้วยเพื่อกันข้อเท้าติดแข็ง และกล้ามเนื้อฝ่อลีบ ในผู้ป่วยรายที่ปลายเท้าตกเล็กน้อยการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในระยะเวลาสั้นๆ ก็จะสามารถกระดกปลายเท้าและเดินได้เร็วขึ้นอยู่กับความตั้งใจของผู้ป่วยยิ่งฝึกบ่อยยิ่งดี ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการปลายเท้าตกมาก การกระตุ้นกล้ามเนื้อและคงองศาการเคลื่อนไหวก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน แต่ในรายที่อาการเป็นมากปลายเท้าตกมากจะเกิดอุปสรรคในขั้นตอนการฝึกเดิน ผู้ป่วยสามารถใส่อุปกรณ์ช่วยได้ เช่น อุปกรณ์กันปลายเท้าตก ( Ankle Food Orthosis , AFO) ขณะฝึกเดินจะสามารถป้องกันปลายเท้าตกได้ ทำให้ผู้ป่วยสามารถฝึกเรียนรู้วิธีการเดินได้ใกล้เคียงกับการเดินปกติมากที่สุด ควบคู่กับการฝึกกล้ามเนื้อให้แข็งแรงไปด้วย