ตอนที่48:ปวดส้นเท้า เกิดขึ้นได้อย่างไร (Plantar Fasciitis)
ปวดส้นเท้า (Plantar Fasciitis)
อาการปวดส้นเท้า หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “รองช้ำ” นั้นมีสาเหตุสำคัญมาจากการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อบริเวณใต้ส้นเท้าทั้งนี้เพราะว่า ส้นเท้าเป็นส่วนที่ต้องรับน้ำหนักตัวของร่างกายคนเราแทบตลอดเวลา โรคนี้มักพบบ่อยในผู้ที่อยู่วัยกลางคนขึ้นไป ผู้ที่มีรูปร่างอ้วน ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องยืนหรือเดินติดต่อกันเป็นเวลานานๆ นักกีฬาที่ต้องกระโดดเอาส้นเท้ากระแทกพื้นบ่อยๆ จะมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้ง่าย เนื่องจาก เนื้อเยื่อบริเวณส้นเท้ากดเบียดกับพื้น ประกอบกับความเสื่อมสภาพไขมันและเนื้อเยื่ออื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามวัยจึงทำให้เกิดการอักเสบง่ายกว่าคนทั่วไป อาการปวดบริเวณส้นเท้า อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ เส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อเท้า กระดูกงอกที่ฝ่าเท้าหรือที่เส้นเอ็นร้อยหวาย กระดูกเท้าบิดผิดรูป โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ หรือ กระดูกหัก เป็นต้น ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บที่ส้นเท้าจะเป็นตำแหน่งที่ชัดเจน มักเจ็บมากในตอนเช้า หลังจากตื่นนอน ช่วงที่ลงจากเตียงมายืนหรือเริ่มเดินผู้ป่วยมักรู้สึกเจ็บจี๊ดแทงลึกเข้าไปในส้นเท้า เดินแล้วมีอาการเจ็บปวด เมืออดทนฝืนเดินต่อไปสักครู่ อาการเจ็บปวดจึงจะทุเลาลง แต่บางรายจะปวดอยู่ตลอดทั้งวันในทุกๆครั้งที่เดิน เมื่อเอามือกดส้นเท้าดูจะรู้สึกเจ็บลึกๆ สร้างความทรมานให้แก่ผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้แล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการอักเสบของเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ฝ่าเท้าตำแหน่งอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น บริเวณกลางอุ้งเท้า หรือใต้ปุ่มกระดูกฝ่าเท้า เป็นต้น
ลักษณะอาการแสดง
- มีอาการปวดส้นเท้า และปวดอุ้งเท้า
- มีจุดกดเจ็บและปวด บริเวณส้นเท้าฝั่งด้านในอุ้งเท้า
- ปวดส้นเท้าและมีอาการระบม ปวดชาไปทั่วทั้งส้นเท้า
- ปวดส้นเท้า แบบรู้สึก ปวดจี๊ด เหมือนโดนเข็มแทง
- ลงน้ำหนักที่ส้นเท้าและเท้าได้ไม่เต็มที่ในระหว่างเดิน
- อาการปวดส้นเท้าจะเป็นมากในช่วงตื่นนอนตอนเช้า เมื่อเดินก้าวแรกก็จะมีอาการปวดมาก แต่เมื่อเดินสักครู่อาการปวดจะทุเลาลง
- มีอาการบวมหรือแดงของผิวหนังใต้ฝ่าเท้า
- มีอาการปวดร้าวตามแนวพังผืดใต้ฝ่าเท้าไปจนถึงจุดกดเจ็บและส้นเท้าเมื่อกระดกนิ้วเท้าขึ้น
การรักษาทางการแพทย์
- การรับประทานยา เช่น ยาแก้ปวดลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาคลายกล้ามเนื้อ
- การฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ บริเวณส้นเท้าจุดที่ปวด แต่ไม่ควรฉีดเกิน 2 ครั้ง เพราะอาจทำให้เกิดเส้นเอ็นฝ่าเท้าเปื่อยและขาดได้
- การผ่าตัด วิธีนี้จะทำก็ต่อเมื่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล คือ อาการปวดไม่ดีขึ้นหลังรับการรักษาที่ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 8 – 10 เดือน หรือ สาเหตุการปวดเกิดจากเส้นประสาทบริเวณฝ่าเท้าถูกกดทับ
การทำกายภาพบำบัด
- การใช้ความร้อนในการรักษา เช่น แช่น้ำอุ่น
- การใช้ความเย็นรักษาในระยะอักเสบ เช่น เจลเย็น
- การรักษาด้วยคลื่นเหนือเสียง
- การออกกำลังกาย เช่น การยืดกล้ามเนื้อน่อง ยืดเอ็นร้อยหวาย
- การใส่อุปกรณ์เสริม เช่น รองเท้าที่มีพื้นรองเท้าที่นุ่ม และมีแผ่นรองรับอุ้งเท้าให้นูนขึ้น
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คลินิกกายภาพบำบัดเฟิร์ส ฟิสิโอ
สายด่วน 085-264-4994
More