ตอนที่50:นิ้วล๊อค (Trigger Finger)
นิ้วล๊อค (Trigger Finger)
ความเป็นมาของโรคนิ้วล็อค
มักจะพบในช่วงอายุ 40 – 60 ปี และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 3 – 4 เท่า เกิดจากเส้นเอ็นสำหรับงอนิ้วมีการอักเสบ ในระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการปวดบวม และกดเจ็บที่ฝ่ามือ ตรงบริเวณใกล้โคนนิ้วมือ เมื่อกำมืองอนิ้วเข้ามาแล้ว จะเหยียดนิ้วออกลำบากเหมือนกับนิ้ว “ถูกล็อค” เอาไว้ ต้องใช้มืออีกข้างมาง้างออก ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ามีเสียงดัง “กรึก” ตรงบริเวณนั้น ลักษณะเหมือนนิ้วดีดออกแล้วจึงเหยียดนิ้วออกไปได้ ซึ่งมักจะมีอาการเจ็บมากขณะที่ง้างนิ้วเหยียดออก เกิดจากปมเอ็นงอนิ้วมือติดค้างอยู่ตรงโพรงเอ็นนิ้วมือ อาการนิ้วล็อคส่วนใหญ่มักเกิดกับนิ้วชี้, นิ้วกลาง, และนิ้วหัวแม่มือ
ปัจจัยที่มีผลต่อภาวะนิ้วล็อค
นิ้วล็อคเกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นนิ้วมือ โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าอะไรทำให้อักเสบ อาจจะสัมพันธ์กับการใช้งานที่มีการกำมือหรือเกร็งนิ้วมือแบบซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน เช่น การเล่นโทรศัพท์มือถือ การพิมพ์คอมพิวเตอร์ การใช้กรรไกรตัดกิ่งหรือตัดผ้า แม่ค้าขายอาหารจับตะหลิว การใช้จอบขุดดิน จากอุบัติเหตุที่บริเวณนิ้วมือเกิดการบาดเจ็บ หรือในนักกีฬาเทนนิส กอล์ฟ แล้วบ่อยครั้งที่พบในผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ และโรคเบาหวาน
ลักษณะอาการของโรคนิ้วล็อค (trigger finger)
- มีอาการปวดบริเวณโคนนิ้ว
- กำและเหยียดนิ้วไม่สะดวก
- นิ้วติดหรือล็อคเมื่องอนิ้ว
- รู้สึกขัด ๆ ที่บริเวณโคนนิ้ว
- อาการเจ็บนิ้ว โดยเฉพาะเมื่อกำมือ
- อาการจะเป็นมากในช่วงเช้าตื่นนอน
- อาจคลำเจอก้อนบริเวณโคนนิ้ว
- เมื่อกดบริเวณโคนนิ้วตรงปุ่มกระดูกจะปวดมาบริเวณที่กด
- เมื่อกำมืองอนิ้วเข้ามาแล้ว จะเหยียดนิ้วคืนออกไม่สะดวกเหมือนกับนิ้วล็อคติดอยู่
การรักษาทางการแพทย์
- การรับประทานยา เพื่อลดการอักเสบของเส้นเอ็น และลดอาการปวด
- การฉีดยาสเตียรอยด์ ที่บริเวณเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่มีการอักเสบ อาการอักเสบจะดีขึ้นหลังจากฉีดยา ไม่ควรฉีดยามากกว่า 3 ครั้ง เพราะการฉีดยาอาจทำให้เส้นเอ็นเปื่อยหรือขาดได้
- การรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อตัดปลอดหุ้มเส้นเอ็นที่อักเสบ แล้วเลาะพังผืดบริเวณนั้นที่หนาตัวขึ้นและขาดความยืดหยุ่นออก
การรักษาทางกายภาพบำบัด
- การใช้ความร้อนในการรักษา เช่น การแช่พาราฟิน และการแช่น้ำอุ่น
- การใช้ความเย็นรักษาในระยะอักเสบ
- การรักษาด้วยคลื่นเหนือเสียง
- การรักษาด้วยวิธีการขยับ ดัดดึง ข้อต่อ
- การใส่อุปกรณ์ดามนิ้ว เช่น Wrist Splint
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คลินิกกายภาพบำบัดเฟิร์ส ฟิสิโอ
www.firstphysioclinic.com
สายด่วน 085-264-4994
More