ตอนที่199: การดูแลรักษากล้ามเนื้อกระดูกเชิงกรานภายหลังการคลอด
การดูแลรักษากล้ามเนื้อกระดูกเชิงกรานภายหลังการคลอด
ขณะตั้งครรภ์ร่างกายสตรีจะมีการเปลี่ยนแปลงในหลายระบบ โดยเฉพาะบริเวณอุ้งเชิงกรานมีการปรับตัวเพื่อรอบรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ กล้ามเนื้อหน้าท้องขยายใหญ่ และดึงถ่วงน้ำหนักตัวของสตรีตั้งครรภ์ไปด้านหน้า ทำให้กระดูกสันหลังต้องทำงานมากขึ้น ทำให้เกิดลักษณะแอ่นหลังมากผิดปกติ ร่วมกับเนื้อเยื่อบริเวณหลังและอุ้งเชิงกรานจะอ่อนนุ่มไม่แข็งแรงเหมือนก่อนตั้งครรภ์ ทำให้สตรีมีอาการปวดเมื่อยบริเวณหลัง ปวดร้าวในช่องท้อง และอาจปวดบริเวณกระดูกหัวเหน่า และก้นกบได้ บริเวณกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานต้องรับน้ำหนักตัว ขนาดของมดลูกที่เพิ่มขึ้นมาก จะไปกระตุ้นกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อยประกอบกับอาการเคลื่อนไหวไม่คล่องตัว อาจทำให้เกิดปัญหาปัสสาวะเล็ด ซึ่งอาการดังกล่าว สามารถป้องกันได้ระดับหนึ่ง โดยการบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลังอย่างถูกวิธี และการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานให้แข็งแรงตั้งแต่ขณะตั้งครรภ์ และภายหลังการคลอดธรรมชาติทางช่องคลอด หากสตรีได้เตรียมตัวมาอย่างดี มีร่างกายแข็งแรง รวมทั้งบุคลากรช่วยการคลอดมีความเข้าใจร่วมกัน กรณีที่ทารกปกติ การคลอดทางช่องคลอดด้วยการเบ่งคลอดเองก็จะเป็นประสบการณ์ที่ดีของมารดาและทารก บริเวณอุ้งเชิงกรานที่ต้องทำงานอย่างหนักก็จะไม่บาดเจ็บมาก อย่างไรก็ตาม หากมีการบาดเจ็บบริเวณนี้ควรได้รับการเอาใจใส่ดูแลรักษา เพื่อจะทำให้อุ้งเชิงกรานกลับมาทำงานได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
การดูแลรักษาอุ้งเชิงกรานภายหลังคลอด
- ในระยะ24ชั่วโมงแรกหลังคลอด ควรลดการอักเสบ การช้ำบวม เช่น การใช้ประคบเย็น
- การนอนหงายพักเต็มที่ วันละ2ชั่วโมง เป็นเวลา14วัน ไม่ควรนั่งอยู่นานๆ
- ควรลดการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะการยืน เดิน
- ออกกำลังกายทั่วไปอย่างเบาๆในท่านอนหงาย ภายหลังจจาก24ชั่วโมงแรกแล้ว
- ไม่ควรขมิบบริเวณอุ้งเชิงกรานทันทีในระยะแรกถึง24ชั่วโมง เนื่องจากอุ้งเชิงกรานยังอักเสบอยู่และจะทำให้เพิ่มรอยแผลเป็นด้วย
- หลังจากคลอด2-3วัน เมื่อเนื้อเยื่อคอลลาเจนแข็งแรงเพียงพอจึงเริ่มออกกำลังกายกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
- สามารถใช้ผ้าอนามัยรวมกับกางเกงชั้นในที่พอดีตัวเพื่อกระชับบริเวณอุ้งเชิงกราน
- ควรนอนคว่ำบนหมอน วันละ30นาที เป็นเวลา14วัน เพื่ออาศัยแรงโน้มถ่วงช่วยให้มดลูกกลับมาอยู่ในสภาวะก่อนคลอด
- การเริ่มออกกำลังกายโดยเร็วจะป้องกันการอ่อนกำลัง และการสูญเสียความทนทานของอุ้งเชิงกราน โดยหลังจาก24ชั่วโมงให้ขมิบอุ้งเชิงกราน โดยเริ่มจากจำนวนน้อยๆก่อน เช่น ขมิบ3ครั้ง เกร็งไว้ครั้งละ3วินาที แล้วปล่อยพัก5วินาที ค่อยทำครั้งต่อไป และขมิบแรงแล้วปล่อยทันที3ครั้ง วันละ5ชุด แล้วค่อยๆเพิ่มขึ้นเป็น5ครั้ง เกร็งครั้งละ5วินาที
- ประมาณ3เดือนเป็นต้นไป สามารถขมิบได้10ครั้ง ครั้งละ10วินาที ขมิบแรง10ครั้ง